จากกระแสมูเตลูที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ต้องยอมรับเลยว่าเป็นอีกเทรนด์ที่กระตุ้นความสนใจของผู้คนให้เกิดการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้อย่างมหาศาลกับธุรกิจแวดวงสายมู ไม่ว่าจะเป็น ดูดวง ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วอลล์เปเปอร์ผูกดวง ไอเทมเครื่องราง วัตถุมงคล แต่ถึงแม้เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ผ่านตามาโดยตลอด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนก็ยังออกตามหาแหล่งมูใหม่ ๆ กันอยู่เสมอ ยิ่งที่ไหนรีวิวว่าดี ก็มีหลายคนพร้อมไปพิสูจน์อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งแหล่งมูที่เราจะมาชี้เป้ากันในวันนี้ นับว่าเป็นต้นตำรับเก่าแก่ที่ย้อนไปถึงยุคเกษตรกรรมแห่งมนุษยชาติเลยทีเดียว นั้นก็คือ การบูชาโคนนทิ ผู้เป็นถึงพาหนะของมหาเทพศิวะ ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อวัฒนธรรมฮินดู ส่งผลให้ภายหลังมีอิทธิพลแผ่ขยายมาจนถึงประเทศไทย จวบจนปัจจุบันก็ยังมีการบูชาอย่างไม่ขาดสาย นับเป็นแหล่งมูอีกแห่งที่ไม่ควรมองข้าม
ประวัติโคนนทิ พาหนะแห่งพระศิวะเทพ
โคนนทิ หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ อุสุภราช เขียนด้วยภาษาสันสกฤตว่า नंदी ใช้ในนามของโคเผือก ผู้เป็นพาหนะของพระศิวะ หากเล่าย้อนกลับไปนั้นต้นกำเนิดได้เกิดจากครั้งที่เหล่าเทพได้ช่วยกันกวนเกษียรสมุทร ซึ่งพระกัศยปะต้องการให้นางโคสุรภีเป็นพาหนะประจำพระองค์ แต่ด้วยเหตุที่ว่านางโคสุรภีนั้นเป็นโคเพศเมียจึงไม่เหมาะกับการเป็นพาหนะ เพราะแท้จริงแล้วควรจะต้องเป็นโคเพศผู้มากกว่า ด้วยเหตุนี้พระกัศยปะจึงได้เนรมิตโคตัวผู้ขึ้นมาเพื่อสมสู่กับนางโคสุรภี โดยลูกโคที่เกิดมามีสีขาวปลอด เป็น เพศผู้ลักษณะดี ในภายหลังจึงได้ตั้งชื่อให้ในนามว่า นนทิ หรือ นันทิ(Nandi) และได้ถวายเพื่อให้รับใช้แด่พระศิวะ
อีกตำนานหนึ่งได้กล่าวถึงการกำเนิดของ โคอุสุภราช ว่าเดิมทีแล้ว ท่านเป็นเทพองค์หนึ่งชื่อ นนทิ ซึ่งเป็นเทพที่คอยดูแลเหล่าบรรดาสัตว์ 4 ขาทั้งมวลที่เชิงเขาไกรลาส ผู้เปรียบเป็นเทพแห่งผู้ปกครองสัตว์จัตุบาทหรือสัตว์สี่เท้าทั้งมวล และมักแปลงกายตนเองให้เป็นโคเผือกสีขาวเพศผู้ เพื่อเป็นพาหนะให้แด่พระศิวะเมื่อท่านเสด็จไปยังที่ต่าง ๆ
ในบางตำราได้กล่าวอีกด้วยว่า โคอุสุภราช เป็นถึงหัวหน้าแห่งเทพบริวารทั้งปวงของเทพพระศิวะอีกด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏให้เห็นอีกว่า โคนนทิ ยังเป็นเทพที่มีทักษะทางนักดนตรีอีกด้วย โดยครั้งหนึ่งได้เคยร่วมนาฏกรรมรำฟ้อนกับพระศิวะ โดยรับหน้าที่ตีตะโพนควบคุมจังหวะ ในขณะที่องค์ศิวะร่ายรำ ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ
อิทธิพลของโคนนทิบนหลักฐานทางวัฒนธรรม
สำหรับโคอุสุภราชในความเชื่อของชาวฮินดู ไม่เพียงถูกมองว่าเป็นเพียงพาหนะตัวหนึ่งเท่านั้น แต่ได้รับการบูชาประดุจดั่งเทพเจ้าองค์หนึ่งที่หลายคนนับถือ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาว่าโคหรือวัวสำหรับชาวฮินดูถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวฮินดูจึงไม่ฆ่าโคและกินเนื้อโคนั่นเอง ส่วนในพิธีมงคลของชาวฮินดู พราหมณ์จะนำมูลโคมาใช้เจิมหน้าผาก เพื่อถือว่าเป็นการเพิ่มสิริมงคลให้แก่ตนเอง อีกทั้งยังถือว่า โคอุสุภราช เป็นหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญที่สื่อถึงพระศิวะ ด้วยเหตุนี้ตามเทวาลัยของลัทธิไศวนิกายหลายแห่งที่บูชาพระศิวะก็มักมีรูปปั้นโคอุสุภราชประดิษฐานที่กลางวิหารไว้ด้วยเพื่อแสดงถึงการเคารพบูชา
ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากการบูชาโคด้วยเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่ารูปปั้นโคนนทิ มักถูกแฝงอยู่ในศาสนสถานวัฒนธรรมร่วมแบบเขมรไม่ว่าจะเป็น เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์, ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ อีกทั้งหากสังเกตให้ดีจะพบว่ายังไปปรากฎให้เห็นในตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง อันเป็นผลงานที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ รวมถึง “แผ่นตรานนทิมุข” ใช้สำหรับรถยนต์หลวง โดยมีอักษรตราไว้ว่า “กระทรวงวังอนุญาตรถนี้เข้าออกในพระบรมมหาราชวังได้” อีกทั้งยังใช้เป็นตราประจำจังหวัดน่านอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโคที่แฝงเร้นอยู่ตามวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลกแม้กระทั่งเรื่องของพระโค ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สำหรับทางศาสนาพราหมณ์ ก็ได้หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะให้แด่พระอิศวร เปรียบได้สัญลักษณ์ของความแข็งแรง เข้มแข็ง แรงงานที่ทนทาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า โคหรือวัว ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญในหลายความหมาย
หากอ้างอิงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบได้ว่าสาเหตุที่มนุษย์ให้ความสำคัญกับโค อาจเป็นเพราะมีการเห็นความสำคัญถึงประโยชน์ในหลายด้านด้วยกัน นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคที่มนุษย์เริ่มการทำเกษตรกรรม การใช้แรงงานสัตว์ก็ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก จนถึงขั้นเรียกได้ว่ามีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตมนุษย์ จึงมีส่วนให้สิ่งเหล่านี้ก่อเกิดเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมและมีการเผยแพร่ออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
สายมูต้องรู้ บูชาโคนนทิ ช่วยเรื่องอะไรบ้าง?
เมื่อพูดถึงการบูชา โคนนทิ หรือ อุสุภราช ก็ย่อมมีการสื่อและระลึกถึงองค์พระศิวะโดยตรงอย่างขาดกันไม่ได้ จนถึงขนาดมีคำกล่าวว่าหลังจากบูชาพระศิวะแล้วก็ต้องบูชา ด้วยเช่นกัน โดยการบูชา โคนนทิ จึงทำให้เหล่าผู้นับถือต่างเชื่อว่าหากได้สักการบูชาจะช่วยส่งผลให้
- สมความปรารถนาในพรที่ขอ
- ชีวิตเจริญรุ่งเรืองมีมงคล ความสุขและโชคลาภ
- มีกำลังในการฝ่าฟันอุปสรรค ทำอะไรก็สำเร็จ
- มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ไร้โรคภัย มีพละกำลัง
- ขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ออกไปไกลตัว
คุณเองก็สามารถบูชาได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็น การกราบไหว้ ณ เทวสถาน ซึ่งมีการจัดประดิษฐ์ไว้ตามที่ต่าง ๆ การระลึกสวดมนต์ขอพร สักการะรูปปั้นตัวแทน หรือบูชาในรูปของวัตถุมงคล โดยทั้งหมดย่อมขึ้นอยู่กับความศรัทธาของแต่ละบุคคล ว่าจะนำความเชื่อเหล่านั้นมาปรับใช้ในชีวิตอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่จะตัดสินว่าเราควรประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้เริ่มลงมือทำอะไรไปบ้าง